การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมด้วย Mind Map®
เรียบเรียงโดย เภสัชกรประชาสรรณ์ แสนภักดี M.P.H. Chiang Mai University

click 2 c full picture        ปัจจุบันกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมกำลังได้รับความนิยม จากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะ หน่วยงานทีจะต้องลงพื้นที่ไปทำงาน กับระดับรากหญ้า ภาคประชาชน คำที่ใช้กับภาษาอังกฤษ ของกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเขาใช้กันว่า Participatory Learning Process - PLP ผู้เขียนจึงขอนำเสนอมุมมองการประยุกต์ใช้เทคนิคการเขียนแผนที่ความคิด เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม แต่ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า ขั้นตอนของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมมีกี่ขั้นตอน เพื่อจะได้เข้าใจตรงกันและ สามารถปรับประยุกต์ใช้ Mind Map® ได้ถูกกับแต่ละบริบทของขั้นตอนต่างๆ
       Mind Map® จะช่วยให้การจัดหมวดหมู่ความคิด รวมทั้งการเชื่อมโยงประเด็นสำคัญๆ ซึ่งจะช่วยให้การจัดกระบวนการเรียนรู้ แบบมีส่วนร่วมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
ขั้นตอนการจัดกระบวนการเรียนรู้
ขั้นตอนที่ 1 ประเมินปัญหาความต้องการของผู้เข้าร่วม (Need Assesment)
ขั้นตอนที่ 2 กำหนดวัตถุประสงค์ (Objectives define)
ขั้นตอนที่ 3 เลือกกำหนดเนื้อหาและจัดลำดับเนื้อหา (Content and Priority setting)
ขั้นตอนที่ 4 เลือกวิธีการในการจัดการเรียนรู้ (Technique selection)
ขั้นตอนที่ 5 จัดทำโครงการจัดการเรียนรู้ (Project setting)
ขั้นตอนที่ 6 การออกแบบจัดทำหลักสูตรกระบวนการจัดการเรียนรู้ (course outline for PLP)
ขั้นตอนที่ 7 จัดกระบวนการเรียนรู้ (PLP-conduct)
ขั้นตอนที่ 8-9 ประเมินผลและติดตามสนับสนุน (Evaluation and Monitoring)
       จากขั้นตอนทั้ง 9 ขั้นตอน เพื่อให้เป็นภาพรวมที่เข้าใจกันง่ายขึ้นเราสามารถสรุปเป็นแผนที่ความคิด (Mind Map ) ที่สวยงาม ได้ดังภาพ ซึ่งเป็นการแตกแขนง และแยกรายละเอียดให้ลึกมากขึ้น

แผนที่ความคิด PLP เขียนโดย โปรแกรม MindGnius download ได้จาก www.mindgenius.com

การประยุกต์ใช้ Mind Map กับแต่ละขั้นตอนของ PLP
(Apply Mind Map for each step of PLP)


ขั้นตอนที่ 1 ประเมินปัญหาความต้องการของผู้เข้าร่วม
       ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแรกเริ่มที่สำคัญของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ข้อมูลที่เราได้จากการประเมินปัญหาความต้องการของผู้เข้าร่วมจะเป็นข้อมูล สำคัญในการใช้ออกแบบกระบวนการที่เข้าถึงความสนใจ และลักษณะของการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วม ในขั้นนี้เราจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐาน (background) ของผู้เข้าร่วม ประสบการณ์การทำงาน ความสนใจ หรือปัญหา และควรศึกษาถึงธรรมชาติ หรือลักษณะการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมเพื่อใช้ประกอบ การพิจารณาออกแบบกระบวน การที่สอดคล้องเหมาะสม
ขั้นตอนที่ 2 กำหนดวัตถุประสงค์
       ในการจัดการเรียนรู้แต่ละครั้งไม่สามารถแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการทุกอย่างของผู้เข้าร่วมได้ การกำหนดความชัดเจนของสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น ในการจัดการเรียนรู้แแต่ละครั้งจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยกำหนดขอบเขตของการเรียนรู้ครั้งนั้นๆ ให้สอดคล้องกับปัญหาความต้องการในส่วนที่ถูกวิเคราะห์ร่วมกัน ว่าเป็นความจำเป็นของการจัดการเรียนรู้ว่าต้องการให้เกิดอะไรบ้างในเวลาและเงื่อนไขต่างๆ ที่มีอยู่

ขั้นตอนที่ 3 เลือกกำหนดเนื้อหาและจัดลำดับเนื้อหา
       เนื้อหาของการจัดการเรียนรู้จะเลือกและกำหนดขึ้นจากวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ครั้งนั้นๆ ในแต่ละวัตถุประสงค์จะนำมาวิเคราะห์ กำหนดเนื้อหาของการเรียนรู้ และมักได้เนื้อหาหลายประเด็น ซึ่งควรมีการเลือกกำหนดเนื้อหาที่สำคัญและจัดเรียงลำดับ ให้สอดคล้องต่อกลุ่มผู้เข้าร่วม ตามเวลาและเงื่อนไขต่างๆ ที่มีอยู่
ขั้นตอนที่ 4 เลือกวิธีการในการจัดการเรียนรู้
       วิธีการจัดการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ผลการเรียนรู้ที่ดี โดยเฉพาะการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ควรให้ความสำคัญและพิจารณาเลือกวิธีการที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมและการได้ลงมือทำเองของผู้เข้าร่วมเป็นสำคัญ

ขั้นตอนที่ 5 จัดทำโครงการจัดการเรียนรู้

       หลังจากที่เราได้ข้อมูลต่างๆ ตามขั้นตอนการวางแผนออกแบบกระบวนการทั้งหมดแล้ว ขั้นตอนของการเตรียมการที่สำคัญ คือ การจัดทำเป็นโครงการจัดการเรียนรู้ โดยการนำเสนอข้อมูลต่างๆ มาเรียบเรียงเป็นโครงการ ซึ่งควรประกอบด้วยข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนที่ 1-4 รวมทั้งแผนงานในช่วงจัดกระบวนการและแผนการติดตาม สนับสนุน และประเมินผลหลังกระบวนการ ตลอดจนรายละเอียด งบประมาณที่ต้องใช้ในโครงการ
ขั้นตอนที่ 6 การออกแบบจัดทำหลักสูตรกระบวนการจัดการเรียนรู้
       การออกแบบและจัดทำแผนหลักสูตรกระบวนการจัดการเรียนรู้ (Session Design) เป็นขั้นตอนสำคัญที่เปรียบเสมือนเข็มทิศและแผนที่การเดินทาง ที่จะพาการเรียนรู้ ครั้งนั้นให้เป็นไปตามสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้โดยการออกแบบรายละเอียดของกระบวนการ แต่ละเนื้อหา ให้เห็นถึงขั้นตอน วิธีการ เวลา เครื่องมือ สื่อต่างๆ ตลอดจนการแบ่งบทบาท ของทีมงาน ซึ่งจำเป็นต้องให้ผู้เข้าร่วมได้มีส่วนร่วม
ขั้นตอนที่ 7 จัดกระบวนการเรียนรู้
      ในขั้นตอนนี้เป็นช่วงที่ต้องดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของทีมงาน ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ที่ต้องทำงานเป็นทีมและแบ่งบทบาทต่างๆ ในการจัดการเรียนรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่ดีของผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนกิจกรรมที่สำคัญของกระบวนการ
ขั้นที่ 8-9 ประเมินและติดตามสนับสนุน
       ในการขัดการเรียนรู้จะมีการประเมินผล ก่อน-ระหว่าง-สิ้นสุด และหลังกระบวนการผ่านไประยะหนึ่งที่กำหนดไว้ รวมทั้งเมื่อสิ้นสุดกระบวนการเรียนรู้แล้ว ควรมีการติดตามผล และการสนันสนุนให้ผู้เข้าร่วมได้นำผลจากการเรียนรู้ไปใช้อย่างต่อเนื่อง

Remark!! Mind Map® จะเป็นเครื่องมือที่เข้าไปใช้ในการช่วยการจัดการข้อมูล การจัดการเรียนรู้ และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการดำเนินการ เช่น การใช้ Mind Map® ระดมความคิดเห็นระหว่างการประชุม ของสมาชิก เรียกว่าเป็นการใช้ Mind Map® ตั้งแต่เริ่มคิด ไปจนถึง ลงมือทำ และสรุปผลการทำงาน นี่คือ ความน่าสนใจของ Mind Map® กับการประยุกต์ใช้กับ PLP ที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ
ปกหนังสือ การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
อ้างอิงข้อมูลวิชาการจาก : องค์ความรู้และประสบการณ์งานพัฒนา NGOs ภาคเหนือ ชุดที่ 2 การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม Participatory Learning Process สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ หน้า 35-39 ราคา 250 บาท


Glocalization Training Center

e-mail : glocalization@thailand.com
Fax : 0-4332-4071
Mobile : 0-1661-8579
copy right © 2003-2004