ผังก้างปลา กับ แผนภูมิความคิด
Fish Bone Diagram & Mind Map®
เรียบเรียงโดย เภสัชกรประชาสรรณ์ แสนภักดี M.P.H. CMU

click 2 c full picture       จากการเดินทางไปเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่างๆ หลากหลาย ผู้เขียนได้รับคำถาม ในเรื่องของผังก้างปลา (Fish bone diagram) หรือ Ishikawa diagram กับ Mind Map® นั้นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร หรือจะใช้ร่วมกันได้หรือไม่ อะไรดีกว่า อะไรใช้งานได้ง่ายกว่า หรืออะไรเกิดก่อน เกิดหลัง อะไรทำนองนี้ ทำให้ผู้เขียนเกิดความปรารถนาที่จะเขียนเรื่องราวของทั้งสองเทคนิคไว้ในบทความฉบับเดียวกัน
       เรามาดูกันก่อนว่าแต่ละเรื่องนั้นมีหลักการของตัวเองว่าอย่างไร (concept) วิธีการในการนำไปใช้เป็นอย่างไร (how to use) จะนำไปใช้กับงานประเภทไหน (which job) และแหล่งข้อมูลที่จะศึกษาเพิ่มเติมบนอินเตอร์เน็ตมีที่ไหนบ้าง (web site)
       แต่ก่อนอื่นผู้เขียนต้องออกตัวก่อนว่า ไม่ได้ต้องการตั้งตัวเป็นพวกรู้ดีเรื่องเครื่องมือ แต่ผู้เขียนเป็นพวกกลุ่มสนใจเครื่องมือ ติดตามดูคนเขาพูดถึงเครื่องมือต่างๆ ในโอกาสต่างๆ และผู้เขียนเป็นประเภทชอบซื้อหนังสืออ่าน ทั้งสองเรื่องก็เป็นเรื่องที่ห้องสมุดของ ศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล มีสะสมไว้หลายเล่ม
       การเขียนเรื่องของเครื่องมือทั้งสองตัวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สนใสสามารภประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการทำงาน ไม่ต้องการจะบอกว่าอะไรดีกว่า อะไรเหนือกว่า เพราะการชี้ประเด็นในลักษณะนั้นจะทำให้เราขาดโอกาสในการนำข้อดี ข้อเด่นของเครื่องมือหนึ่ง ประยุกต์ใช้กับอีกเครื่องมือหนึ่ง
       ในเรื่องของ แผนที่ความคิดหรือ Mind Map® ในเว็บไซต์แห่งนี้ได้กล่าวถึงอย่างละเอียดแล้ว จะไม่ต้องทบทวนอะไรกันมาก ฝากท่านผู้อ่าน ได้เรียนรู้จากเว็บเพจให้ครบทุกหน้าก็แล้วกันนะครับ
       ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ Fish Bone Diagram กันก่อนว่า คืออะไร มันถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างไร ใช้งานกันแบบไหน เมื่อใดจึงจะนำมาใช้งาน ข้อมูลเพิ่มเติมผู้สนใจ สามารถหาซื้อหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมได้ (เล่มที่ขอแนะนำคือ 17 Problem Solving Divices : 17 เครื่องมือนักคิด โดย วันรัตน์ จันทกิจ ราคาเล่มละ 265 บาท)

แผนผังก้างปลาหรือเรียกเป็นทางการว่า
แผนผังสาเหตุและผล (Cause and Effect Diagram)

       แผนผังสาเหตุและผลเป็นแผนผังที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหา (Problem) กับสาเหตุทั้งหมดที่เป็นไปได้ที่อาจก่อให้เกิดปัญหานั้น (Possible Cause) เราอาจคุ้นเคยกับแผนผังสาเหตุและผล ในชื่อของ "ผังก้างปลา (Fish Bone Diagram) " เนื่องจากหน้าตาแผนภูมิมีลักษณะคล้ายปลาที่เหลือแต่ก้าง หรือหลายๆ คนอาจรู้ จักในชื่อของแผนผังอิชิกาว่า (Ishikawa Diagram) ซึ่งได้รับการพัฒนาครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1943 โดย ศาสตราจารย์คาโอรุ อิชิกาว่า แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว

แผนผังสาเหตุและผลคืออะไร
       สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (JIS) ได้นิยามความหมายของผังก้างปลานี้ว่า "เป็นแผนผังที่ใช้แสดงความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบระหว่างสาเหตุหลายๆ สาเหตุที่เป็นไปได้ที่ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาหนึ่งปัญหา"

เมื่อไรจึงจะใช้แผนผังสาเหตุและผล
       1. เมื่อต้องการค้นหาสาเหตุแห่งปัญหา
       2. เมื่อต้องการทำการศึกษา ทำความเข้าใจ หรือทำความรู้จักกับกระบวนการอื่น ๆ เพราะว่าโดยส่วนใหญ่พนักงานจะรู้ปัญหาเฉพาะในพื้นที่ของตนเท่านั้น แต่เมื่อมีการ ทำผังก้างปลาแล้ว จะทำให้เราสามารถรู้กระบวนการของแผนกอื่นได้ง่ายขึ้น
       3. เมื่อต้องการให้เป็นแนวทางในการระดมสมอง ซึ่งจะช่วยให้ทุกๆ คนให้ความสนใจในปัญหาของกลุ่มซึ่งแสดงไว้ที่หัวปลา

วิธีการสร้างแผนผังสาเหตุและผลหรือผังก้างปลา
       สิ่งสำคัญในการสร้างแผนผัง คือ ต้องทำเป็นทีม เป็นกลุ่ม โดยใช้ขั้นตอน 6 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
       1. กำหนดประโยคปัญหาที่หัวปลา
       2. กำหนดกลุ่มปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหานั้นๆ
       3. ระดมสมองเพื่อหาสาเหตุในแต่ละปัจจัย
       4. หาสาเหตุหลักของปัญหา
       5. จัดลำดับความสำคัญของสาเหตุ
       6. ใช้แนวทางการปรับปรุงที่จำเป็น

โครงสร้างของแผนผังสาเหตุและผล

ผังก้างปลาประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้
>> ส่วนปัญหาหรือผลลัพธ์ (Problem or Effect) ซึ่งจะแสดงอยู่ที่หัวปลา
>> ส่วนสาเหตุ (Causes) จะสามารถแยกย่อยออกได้อีกเป็น
     o ปัจจัย (Factors) ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหา (หัวปลา)
     o สาเหตุหลัก
     o สาเหตุย่อย
ซึ่งสาเหตุของปัญหา จะเขียนไว้ในก้างปลาแต่ละก้าง ก้างย่อยเป็นสาเหตุของก้างรองและก้างรองเป็นสาเหตุของก้างหลัก เป็นต้น

การกำหนดปัจจัยบนก้างปลา
       เราสามารถที่จะกำหนดกลุ่มปัจจัยอะไรก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่ากลุ่มที่เรากำหนดไว้เป็นปัจจัยนั้นสามารถที่จะช่วยให้เราแยกแยะและกำหนดสาเหตุต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ และเป็นเหตุเป็นผล
       โดยส่วนมากมักจะใช้หลักการ 4M 1E เป็นกลุ่มปัจจัย (Factors) เพื่อจะนำไปสู่การแยกแยะสาเหตุต่างๆ ซึ่ง 4M 1E นี้มาจาก
       []    M Man คนงาน หรือพนักงาน หรือบุคลากร
       []    M Machine เครื่องจักรหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวก
       []    M Material วัตถุดิบหรืออะไหล่ อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในกระบวนการ
       []    M Method กระบวนการทำงาน
       []    E Environment อากาศ สถานที่ ความสว่าง และบรรยากาศการทำงาน

       แต่ไม่ได้หมายความว่า การกำหนดก้างปลาจะต้องใช้ 4M 1E เสมอไป เพราะหากเราไม่ได้อยู่ในกระบวนการผลิตแล้ว ปัจจัยนำเข้า (input) ในกระบวนการก็จะเปลี่ยนไป เช่น ปัจจัยการนำเข้าเป็น 4P ได้แก่ Place , Procedure, People และ Policy หรือเป็น 4S Surrounding, Supplier, System และ Skill ก็ได้ หรืออาจจะเป็น MILK Management, Information, Leadership, Knowledge ก็ได้ นอกจากนั้น หากกลุ่มที่ใช้ก้างปลามีประสบการณ์ในปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ก็สามารถที่จะกำหนดกลุ่ม ปัจจัยใหม่ให้เหมาะสมกับปัญหาตั้งแต่แรกเลยก็ได้ เช่นกัน

การกำหนดหัวข้อปัญหาที่หัวปลา
       การกำหนดหัวข้อปัญหาควรกำหนดให้ชัดเจนและมีความเป็นไปได้ ซึ่งหากเรากำหนดประโยคปัญหานี้ไม่ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้ว จะทำให้เราใช้เวลามากในการค้นหา สาเหตุ และจะใช้เวลานานในการทำผังก้างปลา
       การกำหนดปัญหาที่หัวปลา เช่น อัตราของเสีย อัตราชั่วโมงการทำงานของคนที่ไม่มีประสิทธิภาพ อัตราการเกิดอุบัติเหตุ หรืออัตราต้นทุนต่อสินค้าหนึ่งชิ้น เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ควรกำหนดหัวข้อปัญหาในเชิงลบ
       เทคนิคการระดมความคิดเพื่อจะได้ก้างปลาที่ละเอียดสวยงาม คือ การถาม ทำไม ทำไม ทำไม ในการเขียนแต่ละก้างย่อยๆ

บทวิเคราะห์ Fish Bone Diagram เทียบเคียง Mind Map®
จากขั้นตอน ทั้ง 6 ขั้นตอนการเขียนแผนผังก้างปลา เรามาวิเคราะห์กันว่า เหมือน Mind Map® ตรงไหนบ้าง
       1. กำหนดประโยคปัญหาที่หัวปลา --> ตรงกับ Mind Map® คือ การกำหนด Subject of Mind Map ไว้ตรงกลางหน้ากระดาษ
       2. กำหนดกลุ่มปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหานั้นๆ --> ตรงกับ Main branch หรือ Main Node แขนงความคิดหลัก รอบๆ Subject of Mind Map
       3. ระดมสมองเพื่อหาสาเหตุในแต่ละปัจจัย --> ปัจจัยที่แตกย่อยออกไปก็คือ Sub-branch ในระดับลูก (child) ของ Main branch
       4. หาสาเหตุหลักของปัญหา --> การเน้นประเด็นหลัก หรือการจัด Priority ให้กับ Main branch อะไรสำคัญกว่า
       5. จัดลำดับความสำคัญของสาเหตุ --> set priority ด้วยการเพิ่มตัวเลข ใน branch ต่างๆ
       6. ใช้แนวทางการปรับปรุงที่จำเป็น --> นำผลที่ได้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหา

ภาพแสดงแผนภูมิความคิด Mind Map® ที่นำหลักการ Fish Bone Diagram มาปรับใช้ทั้ง 6 ขั้นตอน

และเราสามารถแตกสาเหตุในแต่ละปัจจัยออกไปอีกได้เรื่อยๆ แสดงดังภาพ

จากภาพหากบางแขนงมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เราก็สามารถโยงเส้น Relationship ไปเชื่อมกันได้ ซึ่งจะแตกต่างจากก้างปลา เพราะก้างใครก้างมัน แต่ ในมิติของ Mind Map ซึ่งเรียบแบบการทำงานของสมอง ก็เป็นการจำลองการเชื่อมโยงนั่นเอง นอกจากนั้นแล้ว ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เขียนแผนที่ความคิด มีระบบช่วยการทำงาน โดยการเตรียมตัวเลขไว้ให้เราจัดลำดับความสำคัญของปัจจัย หรือ branch

หากเราต้องการให้ Mind Map มีความใกล้เคียงผังก้างปลาก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงสั่งให้โปรแกรม จัดผัง Mind Map ใหม่ ดังภาพ

สิ่งที่ Mind Map® จะเข้ามาช่วยเสริมให้การเขียนผังก้างปลามีความสวยงามและมีประสิทธิภาพ มากขึ้นก็คือ การใช้ Mind Map® ช่วยในการระดมสมอง ให้ได้ ความคิดจำนวนมากและหลากหลาย ดูรายละเอียดเรื่องการระดมสมองได้จาก เรื่องของการระดมสมอง Brainstorming
       จากรายละเอียดที่นำเสนอนี้ก็คงจะช่วยตอบคำถามในเรื่องของ Mind Map และ Fish Bone Diagram ว่าสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว เสริมกันและ กันได้เป็นอย่างดี สำคัญก็คือ ใครจะประยุกต์ไปใช้ได้มากกว่ากัน

เอกสารอ้างอิง และอ่านเพิ่มเติม : 17 เครื่องมือนักคิด (17 Problem Solving Devices) วันรัตน์ จันทกิจ ราคา 265 บาท

โปรดรอติดตาม หนังสือ เรื่องราวของการจัดการความคิด (Ideas Management) ผลงาน ที่เรียบเรียง เรื่องราว d-Mind Map โดย ผู้จัดการศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล ภก.ประชาสรรณ์ แสนภักดี เร็วๆ นี้ Coming Soon !!!


Glocalization Training Center

e-mail : glocalization@thailand.com
Fax : 0-4332-4071
Mobile : 0-1661-8579
copy right © 2003-2004