รู้จักกับ การเขียนแผนที่มโนทัศน์ (Concept of Concept Mapping)


โดย ภก.ประชาสรรณ์ แสนภักดี
ศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล
Glocalization Training Center

          การเขียนแผนที่มโนทัศน์ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Concept Mapping เป็นเครื่องมือที่จัดอยู่ในกลุ่มของ การสร้างภาพความคิด (Visualize Thinking) ที่ได้รับความนิยม และนำไปใช้หลากหลาย โดยเฉพาะการนำไปใช้ในห้องเรียนของโรงเรียนในต่างประเทศ มีคำที่คล้ายๆ กัน ก็คือ Mind Mapping ซึ่งเป็นการเขียนแผนที่ความคิด นอกจากนั้นยังมีส่วนของ MindScape หรือแผนภาพของเขตความคิด ทั้งสามคำ หรือสามเครื่องมือนี้มีบางอย่างที่เกี่ยวข้องกัน

Mind Mapping , MindScape and Concept Mapping

ส่วนที่ซ้อนทับกันของเครื่องมือทั้งสามนี้ก็คือ เป็นการถ่ายทอดภาพในใจ (Mental Model) ออกมาสู่ภาพที่มองเห็น หรือจับต้อง หรือจัดการได้ (Visualize Thinking) หรือในแง่ของการจัดการความรู้ (Knowledge Management - KM) มันก็คือ การแปลงความรู้ที่เป็น Tacit Knowledge ออกมาเป็น Explicit Knowledge นั่นเอง
       การเขียนแผนที่มโนทัศน์ (Concept Mapping) คือ กระบวนการที่จะช่วยให้กลุ่มคนวิเคราะห์ปัญหา วิเคราะห์โครงการใหม่ ๆ ด้วยการระดมความคิด (Brainstorming) มีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากลุ่ม โดยแต่ละคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ ภาพประกอบต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นกระบวนการของ Concept Mapping ได้อย่างชัดเจน (อ้างอิงบางส่วนจาก หนังสือ สร้างองค์กร อัจฉริยะ ในยุคโลกาภิวัฒน์ โดย ดร.เจนเนตร มณีนาค และคณะ) ภาพประกอบ อ้างอิงจากแนวคิด ของ William M.K. Trochim


กระบวนการ Concept Mapping ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ๆ 6 ขั้นตอน
1. Preparation Step - ขั้นของการเตรียมการ
       เป็นขั้นตอนที่ผู้ริเริ่มมีความคิดใหม่ๆ หรือมีโครงการใหม่ๆ ที่ต้องการจะทำการวิเคราะห์ ผู้ริเริ่มนี้จะเป็นผู้รวบรวมสมาชิกภายในกลุ่ม (สอดคล้องกับ ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice - CoP) ของการจัดการความรู้ -KM) จะเป็นจำนวนเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหาที่ต้องการจะแก้ไข จากนั้นจะทำตารางนัดหมายไว้คร่าว ๆ หลังจากนั้นจะทำการนัดหมายการประชุมครั้งแรก ขั้นตอนนี้จะเป็นการกล่าวถึงโครงการ หรือความต้องการของโครงการ วัตถุประสงค์คืออะไร ต้องการผลลัพธ์อะไรบ้าง และการทำงานร่วมกันทางความคิดจะเป็นอย่างไร
2. Generation Step ขั้นของการสร้างความคิด
       คือการที่ทุกคนในกลุ่มเสนอความคิดเห็นของตนเองออกมา ข้อมูลที่ได้อาจจะมาจากตำรา งานวิจัย หรือแหล่งความรู้ (Sources of Knowledge) ที่หลากหลาย อาทิ ห้องสมุด อินเตอร์เน็ต หนังสือ วารสารวิชาการ ฐานข้อมูลความรู้ต่างๆ หรือบางครั้งอาจจะมาจากผู้เชี่ยวชาญ (Center of Excellence - CoE) ขั้นตอนนี้จะสนใจที่จำนวนของความคิด มากกว่า คุณภาพของความคิด ผู้นำการประชุม หรือ วิทยากรกระบวนการ (Facilitator) จะมีบทบาทที่สำคัญในช่วงเวลานี้เป็นอย่างมากที่จะกระตุ้นให้สมาชิกนำเสนอความคิดเห็น
3. Structure Step - ขั้นการจัดโครงสร้างความคิด
      สมาชิกในกลุ่มจะช่วยกันจัดกลุ่มของความคิด (Ideas Grouping) รวมทั้งการจัดลำดับช่วงชั้นของความคิด (Basic Ordering Ideas - BOIs)
4. Representation Step - การวิเคราะห์แผนที่มโนทัศน์
     เป็นขั้นตอนที่จะวิเคราะห์คุณภาพของความคิด วิเคราะห์ความสัมพันธ์ (Relationship) วิเคราะห์ประเด็นเชื่อมโยง หรือเกี่ยวข้อง รวมทั้งวิเคราะห์ส่วนขาด หรือสิ่งที่ตกหล่น ยังไม่มีใครมอง
5. Interpretation Step - การตีความและแปลความหมาย
     เป็นขั้นตอนในการทำความเข้าใจ และแปลผลของแผนที่มโนทัศน์ เป็นขั้นตอนที่จะต้องนำแผนที่มโนทัศน์ออกมาสื่อสารให้เป็นที่เข้าใจได้โดยง่าย ไม่สำคัญว่าเขียนมันออกมาได้ แต่สำคัญว่า เขียนแล้ว ชาวบ้านอ่านเข้าใจด้วย ซึ่งตัวชาวบ้านเองก็จะต้องฝึกอ่าน แผนที่มโนทัศน์ให้เป็นด้วย
6. Utilization Step การนำไปใช้ประโยชน์
     เป็นการนำ Concept Mapping ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน เช่น การนำไปใช้เป็น Strategic Map หรือการนำไปใช้เป็นกรอบแนวคิด (Conceptual framework) ในการดำเนินงานวิจัย หรือวิเคราะห์เพื่อ แก้ปัญหาขององค์กรหรือหน่วยงาน

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เขียน Concept Mapping : www.inspiration.com
เอกสารอ้างอิง : สร้างองค์กร อัจฉริยะ ในยุคโลกาภิวัฒน์ โดย ดร.เจนเนตร มณีนาค และคณะ

ศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล - ขอนแก่น